ผู้บริโภคยุค “มิลเลนเนียล” ต่างกันเกินกว่าจะเหมารวม
ศูนย์วิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ “HILL ASEAN” (Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN: HILL ASEAN) คลังสมองทางวิชาการที่จัดตั้งขึ้นในปี 2557 โดยบริษัทฮาคูโฮโด อิงค์ บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น เผยผลการศึกษาวิจัยล่าสุดในการเข้าถึงวิถีความคิดของ sei-katsu-sha หัวข้อ “ASEAN MILLENNIALS – ต่างกันเกินกว่าจะเหมารวม” เจาะลึกทุกความต่างทางความคิดในการใช้ชีวิตและการทำงาน ไปจนถึงพฤติกรรมการรับมือกับเทคโนโลยีดิจิตอลยุคใหม่ของผู้บริโภคยุคมิลเลนเนียลในภูมิภาคอาเซียน ผลการศึกษาวิจัยเชิงลึกชิ้นนี้ จะถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกในงานสัมมนา
ASEAN SEI-KATSU-SHA FORUM 2017 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในกรุงเทพฯ และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด โดยได้รับความสนใจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามจากบรรดานักการตลาดและผู้บริหารมากกว่า 300 คน จากบริษัทสัญชาติไทยและญี่ปุ่นทั่วภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสื่อมวลชนไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน คนกลุ่มมิลเลนเนียล หรือผู้คนซึ่งเกิดในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ได้กลายมาเป็นที่สนใจอย่างมากของนักการตลาดทั่วโลก ด้วยเหตุที่คนกลุ่มนี้มีลักษณะความคิด ความเชื่อที่แปลกใหม่ และมีความคล่องแคล่วในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอล กลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลจึงมีความแตกต่างอย่างมากจากคนรุ่นก่อนๆ และยากจะเข้าถึงด้วยวิธีการตลาดแบบดั้งเดิม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน คนกลุ่มมิลเลนเนียลถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวที่สูงมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่รวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องยากที่จะให้จำกัดความกลุ่มคนที่มีช่วงอายุกว้างเช่นนี้ ออกมาเป็นกลุ่มก้อนที่มีอัตลักษณ์ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยเหตุนี้ ในการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ HILL ASEAN จึงแบ่งกลุ่มประชากรที่ศึกษาเป็น 2 กลุ่ม คือ คนที่เกิดในทศวรรษ 1980 และคนที่เกิดในทศวรรษ 1990 รวม 1,800 คนใน 7 ประเทศ เพื่อศึกษาทัศนคติของคนแต่ละกลุ่ม โดยผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างมากมาย ทั้งวิถีการใช้ชีวิต การทำงาน การใช้เทคโนโลยีดิจิตอล รวมไปถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ฯลฯ
เมื่อถามคำถามหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียลที่เกิดในทศวรรษ 1980 และ 1990 ในประเทศอาเซียน 6 ชาติ (ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์) ว่า พวกเขารู้สึกถึงช่องว่างระหว่างวัยระหว่างกันหรือไม่ สัดส่วนของผู้ที่ตอบว่าใช่ทั่วอาเซียน ซึ่งเกิดในช่วงทศวรรษ 1980 มีมากถึง 70% ขณะที่ในประเทศไทยอยู่ที่ 78% ขณะที่หนุ่มสาวซึ่งเกิดในทศวรรษ 1990 ที่ตอบว่ารู้สึกถึงช่องว่างระหว่างวัยกับผู้ที่เกิดในทศวรรษ 1980 ทั่ว 6 ประเทศในอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 66% และ 64% ในประเทศไทย เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไทยที่เกิดในยุค 1980 ซึ่งรู้สึกได้ถึงช่องว่างระหว่างวัยกับคนที่เกิดในยุค 90 มีสัดส่วนที่สูงมาก อาจเป็นเพราะคนทั้งสองกลุ่มมีไลฟ์สไตล์ที่ได้รับผลกระทบจากการมาถึงของเฟซบุ๊กและสมาร์ทโฟนไม่เท่ากัน
เมื่อสอบถามว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ใดที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขามากที่สุด กลุ่มคนที่เกิดในยุค 80 ตอบว่า วิกฤติทางการเงินในเอเชียเมื่อปี 2541 ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น ขณะที่กลุ่มคนที่เกิดในยุค 90 ตอบว่า เฟซบุ๊กและสมาร์ทโฟนเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขามากกว่า
ทั้งนี้ คะแนนที่เทให้เหตุการณ์วิกฤติการเงินในเอเชียนั้นถือว่าสูงมากในประเทศอินโดนีเซียและไทย ทั้งในกลุ่มคนที่เกิดในยุค 80 และ 90 โดยประเทศทั้งสองต่างก็เป็นชาติที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากวิกฤตินี้ ซึ่งทำให้คนเป็นพ่อแม่ตกงาน จนต้องละทิ้งครอบครัวไปหางานใหม่ยังที่อื่นๆ หรือต้องย้ายบ้านไป ดังนั้น ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้จึงถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก
สำหรับประเทศเวียดนามและไทยนั้น มีช่องว่างระหว่างวัยที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งเป็นผลจากเฟซบุ๊กและสมาร์ทโฟน โดยผลกระทบที่เกิดกับหนุ่มสาวยุค 90 ซึ่งคุ้นเคยกับการสร้างชุมชนบนเฟซบุ๊ก รวมถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ ผ่านสมาร์ทโฟนมาตั้งแต่อายุน้อยๆ ดูเหมือนจะส่งผลแรงกล้ากว่าที่เกิดกับคนรุ่น 80 ซึ่งมีอายุมากกว่าในสมัยที่มีสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก