Biznews

ประวัติ สมเด็จย่า

ที่มาของ “ตะละภัฏ” นามสกุลของสมเด็จย่า

โดย ธนก บังผล

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เดิมนั้นชื่อสังวาลย์ พระราชสมภพเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 (ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ) ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ใน พระชนกชู และ พระชนนีคำ ทรงมีพี่สาว และพี่ชาย 2 คนซึ่งได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย คงเหลือแต่น้องชาย ซึ่งอ่อนกว่าพระองค์ 2 ปี ชื่อ คุณถมยา

“สมเด็จย่า” เดิมพระองค์ทรงเป็นสามัญชน ตามประวัติบันทึกไว้ว่า พ่อชื่อ ชู เกิดปีใดไม่ปรากฏ เป็นบุตรคนโตของคหบดีชุ่ม ไม่ปรากฏนามมารดา แหล่งข้อมูลบางแห่งว่ามารดาชื่อ ใย มีพี่น้องร่วมมารดาจำนวนหนึ่ง และมีพี่น้องต่างมารดาอีกสองคน ชูมีอาชีพเป็นช่างทอง มีนิวาสถานเดิมใกล้วัดอนงคาราม ฐานะของครอบครัวค่อนข้างดี ชูเสียชีวิตลงขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังเยาว์ชันษา

แม่ชื่อ คำ เกิดปีใดหรือชื่อสกุลเดิมใดไม่ปรากฏ มีมารดาชื่อผาแต่ไม่ปรากฏนามบิดา เป็นบุตรคนเล็กจากพี่น้องทั้งหมด 5 คนฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดีนักเมื่อเทียบกับครอบครัวสามี คำถือเป็นคนเดียวในกระบวนพี่น้องที่อ่านออกเขียนได้และสอนให้บุตรทั้งสองอ่านหนังสือ คำล้มป่วยที่บ้านของพี่สาวชื่อมา โสพจน์ ย่านมีนบุรีก่อนกลับมาสิ้นใจที่บ้านฝั่งธนบุรีช่วงปี พ.ศ. 2452 ขณะนั้นสมเด็จย่าพระชันษาได้เพียง 9 ปี หลังจากสิ้นพระชนนีไม่นาน รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคต

ก่อนหน้านั้น พระชนกของสมเด็จย่า ประกอบอาชีพเป็นช่างทอง มีห้องยกพื้นและเตากลม ๆ หนึ่งเตาสำหรับทำทองโดยมีคำ และซ้วย (พี่สาวของคำ) เป็นลูกมือทำทอง แต่หลังการมรณกรรมของชู ทางครอบครัวก็มิได้ทำทองอีกต่อไป และฐานะยากจน ทำให้สมเด็จย่าจำต้องออกจากโรงเรียนศึกษานารีเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน เมื่อจำเริญวัยขึ้นก็ทรงช่วยซ้วยซึ่งเป็นป้ามวนบุหรี่ขาย

นั่นหมายความว่า พระชนก พระชนนี รวมทั้งพี่สาวพี่ชาย ของสมเด็จย่าได้ถึงมรณกรรมไปหมดสิ้น เหลือเพียงน้องชายที่คลานตามกันมาเพียงคนเดียวคือ คุณถมยา (ราวปี พ.ศ. 2445 — ราวปี 2471) ซึ่งพิการหลังค่อม

เมื่อสมเด็จย่า จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาต่อนั้นยังไม่มีนามสกุล จึงยืมนามสกุลของ หลวงสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฏ) มาใส่ในพาสปอร์ต ตั้งแต่นั้นมาเลยชื่อว่า สังวาลย์ ตะละภัฏ

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพท้าวพิทักษ์อนงคนิกร (คุณจรูญ ตะละภัฏ) เล่าว่า หลวงสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฏ) ซึ่งเป็นบิดาของท้าวพิทักษ์อนงคนิกรนั้น เป็นหลานของเจ้าจอมมารดาเที่ยงในรัชกาลที่ 4 พระธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนะดิษ)

เจ้าจอมมารดาเที่ยง เกี่ยวข้องเป็นหลานของจางวางท้วม ส่วนจางวางท้วมเป็นจางวางในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์ และมีฐานะเป็นปู่ของหลวงสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฏ)

พระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมาดาเที่ยงนั้นมีทั้งหมด 9 พระองค์ ทรงพระเมตตาแก่หลวงสงขลานครินทร์มาตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก

ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์ ได้ทรงนำท่านหลีมาถวายตัวรับราชการกับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า ในครั้งนั้นสมเด็จพระพันวัสสาฯ ได้โปรดให้ท่านหลีทำหน้าที่มหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคต สมเด็จพระพันวัสสาฯ จึงโปรดให้ท่านหลีมาทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยง “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช” หรือ “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลา” หรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นั่นเอง เนื่องจากเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

เมื่อ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ได้ทรงรับการสถาปนาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ท่านหลี ก็ได้รับตำแหน่งเป็นขุนสงขลานครินทร์เจ้ากรม

ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อปี 2472 รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระเกียรติพระนามขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ท่านหลีก็ได้เลื่อนเป็นหลวงสงขลานครินทร์ด้วย

ความสัมพันธ์จึงโยงใยมาถึง “สังวาลย์ ตะละภัฏ” ด้วยประการเช่นนี้

มีผู้สันนิษฐานว่า นามสกุล ตะละภัฏ นั้น สมเด็จพระพันวัสสาฯ น่าจะทรงผูกขึ้น โดยใช้ความหมายดังนี้

ตะละ ตรงกับคำว่า ตล ในภาษาบาลี แปลว่า พื้น พื้นดิน ซึ่งน่าจะตัดเอามาจากพระนามสมเด็จพระบรมราชชนก ว่า มหิดลอดุลเดช มหิดล เขียนแบบบาลี ได้เป็น มหิตล (แปลว่าพื้นแผ่นดิน พื้นโลก) แล้วตัดเหลือ ตล ที่เขียนว่า ตะละ อาจจะเพื่อต้องการให้อ่านได้อย่างเดียวว่า ตะ-ละ ถ้าเขียนว่า ตละ หรือ ตล บางคนอาจจะอ่านว่า ตน-ละ ซึ่งไปพ้องกับคำว่า ตนละ ซึ่งความหมายจะเปลี่ยนไปทันที

ภัฏ มาจาก ภฏฺฏ แปลว่า คนรับใช้ ข้าบริพาร ฯลฯ บางทีอาจแปลว่า มหาดเล็ก ก็น่าจะได้

รวมความ ตะละภัฏ น่าจะมีความหมายว่า สกุลของผู้รับใช้หรือข้าราชบริพารในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ซึ่งก็เป็นนามสกุลประทานที่เหมาะสมกับหน้าที่ราชการของหลวงสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฏ) อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตามหลังจากอภิเษกสมรสแล้ว สมเด็จย่าและสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร ได้เดินทางไปต่างประเทศ โดยใช้ชื่อว่า Mr. & Mrs. Songkla

นอกจาก “ตะละภัฏ” แล้ว คุณถมยา ซึ่งเป็นน้องชายของสมเด็จย่า ใช้นามสกุล “ชูกระมล” ซึ่งพิการหลังค่อม สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนบ้านสมเด็จ โดยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ส่งไปเรียนด้านภาษาที่กรุงโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยหวังใจว่าอยากเรียนแพทย์ แต่ไม่สมประสงค์เพราะคุณถมยาได้เสียชีวิตจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเสียก่อน เมื่ออายุแค่ 26 ปี ไม่ได้สมรส จึงไม่มีผู้ใดใช้นามสกุลนี้อีก

ส่วนตะละภัฏนั้นมีผู้สืบสกุลมาหลายชั่วคน โรงเรียนตะละภัฏศึกษา เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ที่ ตำหนักไม้เก่าหลังเล็ก 2 ชั้น เดิมเป็นที่ตั้งของโรงละครปรีดาลัย อยู่ภายในวังวรวรรณ วังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของวังวรวรรณ ถูกเวนคืนเพื่อนำพื้นที่มาสร้างเป็นถนน และอาคารพาณิชย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปัจจุบันนี้คือ ถนนแพร่งนราและย่านแพร่งนรา คงเหลือแต่อาคารโรงเรียนตะละภัฏศึกษา

ปัจจุบันเป็นสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง โดยผู้เริ่มก่อตั้งสำนักงานกฎหมายแห่งนี้มีชื่อว่า ทนายสมหมาย ตะละภัฏ ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยทายาทของท่านคือทนาย กัลลวัตร ตะละภัฏ บุตรชายของท่านได้สืบสานเจตนารมณ์เป็นทนายที่มีความเชี่ยวชาญท่านหนึ่ง

ในหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีบันทึกไว้ค่อนข้างละเอียด ไปถึงญาติทางพ่อและแม่ของสมเด็จย่า ดังนี้

“ ปู่ของแม่ชื่อชุ่ม ย่าชื่ออะไรไม่ทราบ แม่ไม่เคยรู้จักทั้งสองท่าน ปู่ชุ่มและย่ามีลูกที่แม่รู้จัก 3 คน คนโตคือ พ่อซึ่งชื่อชู คนรองเป็นหญิงชื่อจาด อาจาดของแม่แต่งงานกับคนจีนที่ทำการค้าขายและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสโมสรฯ อาจาดและสามีไปอยู่เมืองจีนเสียนาน เมื่อแม่เป็นเด็กไม่เคยรู้จัก

เมื่อแม่เป็นผู้ใหญ่แล้วอาจาดและสามีได้มาหาที่วังสระปทุมและได้นำขันถมมาให้ด้วย แม่บอกว่าด้วยเหตุที่อยู่เมืองจีนเสียนานมาก อาจาดพูดไทยไม่ชัดซึ่งแม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ตลก อาจาดและหลวงสโมสรฯ มีลูกชายคนหนึ่งชื่อชื่น เป็นพ่อค้าสุรา ครั้งหนึ่งท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ได้พาชื่นมาหาแม่ และชื่นได้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลจำนวนหนึ่ง

ลูกคนที่สามของปู่และย่าของแม่เป็นชายชื่อสอน มีลูกอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งมาขอทำงานเมื่อแม่อยู่วังสระปทุม ปู่มีภรรยาอื่นนอกจากย่า เท่าที่รู้จักและจำได้ แม่มีป้าอีกหนึ่งคนและอาหญิงอีกหนึ่งคน

ญาติทางแม่ – ญาติของแม่บางคนเล่าว่าครอบครัวมาจากเวียงจันทน์ แม่บอกว่าอาจเป็นได้ เพราะที่บ้านชอบรับประทานข้าวเหนียว ตาของแม่ชื่ออะไรไม่ทราบ ยายชื่อผา พ่อและแม่ของยายผามีลูก 6 คน คนโตเป็นชายชื่อคลี่ มีลูกหลานหลายคน ยายผาเป็นลูกคนสุดท้อง

ตาและยายผามีลูก 5 คน คนแรกชื่อมา ซึ่งแต่งงานกับเจียม มีนาที่มีนบุรี และฐานะดีพอใช้ แต่ลูกหลานผลาญหมด ป้ามาของแม่มีลูก 3 คน ปุ้ย (หญิง) แช่ม (ชาย) และช้อย (หญิง) สามีของปุ้ยเป็นผู้ดูแลเรือนจำมีนบุรี ต่อมาแม่ได้อุปการะลูกของปุ้ย 3 คน ในจำนวน 5 คนที่มี

แช่มมีลูก 4 คน ซึ่งแม่รับมาเลี้ยงทุกคน พร้อมกับให้แช่มมาอยู่ในวังสระปทุม คนโตเรียนการเกษตรที่ฟิลิปปินส์ และได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนที่ 2 เป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลกลาง แต่บัดนี้ถึงแก่กรรมแล้ว คนที่ 3 คือคุณหญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ คนที่ 4 เดิมชื่อทุเรียน ตามที่เชื่อกันว่าถ้าตั้งชื่อไม่เพราะๆให้เด็กที่ไม่แข็งแรง ผีจะไม่มาเอาตัวไป แต่เมื่อแม่เอาไปเลี้ยงให้เปลี่ยนชื่อเป็นอำไพ

ช้อยมีสามีคนเดียวกันกับปุ้ย และมีลูก 1 คน ซึ่งแม่ได้เลี้ยงขณะหนึ่ง ลูกคนที่ 2 ของยายผาชื่อ ไข (หญิง) มีลูก 4 คน ใย (ชาย) ชม (หญิง) พร (หญิง) และชุ่ม (ชาย) แม่เคยเลี้ยงลูกของใย 2 คน ลูกคนที่ 3 ของยายผาชื่อ ดี (ชาย) ไม่มีครอบครัว ลูกคนที่ 4 ของยายผาชื่อซ้วย (หญิง) เคยมีสามีแต่ไม่มีลูก ลูกคนที่ 5 ของยายผาชื่อคำ ซึ่งเป็นแม่ของแม่”

(ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในอินเตอร์เนต ผมนำมาเรียบเรียงใหม่เท่านั้น)

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: