“บ้านนอกเบียร์” เตรียมปฏิวัติเบียร์ไทย
กระแส “คราฟต์เบียร์ (Craft Beer)” หรือเบียร์ที่เกิดจากผู้ผลิตรายเล็กซึ่งต้องการอิสระเเละสร้างสรรค์เบียร์ด้วยตัวเอง นั่นคือเบียร์ที่ผ่านการผลิตจากผู้ผลิตรายเล็ก หรือการทำเบียร์ปริมาณไม่มาก ซึ่งก็จะมีเอกลักษณ์ของแต่ละเจ้าที่ผลิตแตกต่างกันไป คราฟต์เบียร์เริ่มเข้ามามีบทบาทกับตลาดเบียร์ในประเทศไทยมากขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากติดปัญหาที่ข้อกฎหมายของบ้านเราจึงทำให้ไม่สามารถทำได้อย่างเสรี
กฎหมายที่ว่าก็คือ ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 อนุญาตให้มีการทำเบียร์ได้ 2 ประเภทคือ 1.หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี 2. โรงเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย……. ณ สถานที่ผลิต (Brew Pub) โดยให้บริโภคภายในพื้นที่ผลิต ไม่อนุญาตให้บรรจุขวดและต้องผลิตในปริมาณขั้นต่ำที่ 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี ทั้งนี้การผลิตเบียร์ทั้งสองประเภท ผู้ผลิตจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนด้วยเงินทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท นับเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคสำคัญที่ผู้ผลิตรายเล็กมองว่าไม่เป็นธรรม
คราฟต์เบียร์ กำลังร้อนแรงในเมืองไทย หลังจากชายหนุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตจับกุมข้อหาผลิตจัดจำหน่าย และครอบครองเครื่องมือทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 ชนิดที่เป็นข่าวโด่งดังมาก่อนหน้านี้
ปัจจุบัน หนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ที่น่าสนใจต้องยกให้ ฟาง-ปณิธาน ตงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านนอกเข้ากรุง ผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คราฟต์เบียร์แบรนด์สโตนเฮด ลำซิ่ง และบ้านนอกเบียร์ หนุ่มน้อยจากสกลนครที่เดินทางมาตามฝันของตัวเอง หลังจบการศึกษาที่จุฬาฯ เขาก็เริ่มบุกเบิกธุรกิจส่วนตัวเรื่อยมาตั้งแต่ทำเสื้อผ้า อาหารเสริมแต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จนมาลงตัวที่ธุรกิจสแน็ค ภายใต้แบรนด์ “แมลงทอดไฮโซ” แมลงทอดบรรจุซองพร้อมทานปรุงรสที่สร้างฮือฮาและยอดขายถล่มถลายมาแล้ว
เมื่อถึงจุดที่ธุรกิจเริ่มเริ่มอิ่มตัว หนุ่มฟางออกเดินทางตามฝันของตัวเองอีกครั้งด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างแดนเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเอง และเมื่อเดินทางไปในแต่ละที่ก็จะพบว่าทุกที่ที่เขาไปมีคราฟต์เบียร์ของตัวเอง และคราฟต์เบียร์ของแต่ละที่ก็รสชาติไม่เหมือนเบียร์ที่เคยดื่มในบ้านเรา เพราะมีทั้งความหลากหลายและความแปลกใหม่
จนกลับมาประเทศไทยก็ตั้งต้นศึกษาคราฟต์เบียร์อย่างจริงจัง และพบว่ามีคนไทยกลุ่มหนึ่งทำที่ทำคราฟต์เบียร์แต่เป็นการแอบทำแอบทำ จึงเกิดคำถามว่า ทำไมเราจึงไม่สามารถทำคราฟต์เบียร์ในไทยอย่างถูกหมายได้
เมื่อความอยากลองบวกกับเลือดความกล้าบ้าบิ่นในตัว บวกกับความอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการคราฟต์เบียร์บ้านเราและต้องการให้คนไทยได้รับประสบการณ์ในการดื่มคราฟต์เบียร์ที่หลากหลาย เมื่อบ้านเราไม่อนุญาตให้ผลิต หนุ่มฟางตัดสินใจหุ้นกับเพื่อนหอบเงิน 20 ล้านบาทไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2557 ก่อนนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จึงกลายเป็นที่มาของ “Stone Head” ซึ่ง Stone Head ก็คือเบียร์ที่นำเข้า แต่เป็นเบียร์ที่ผลิตโดยคนไทย เจ้าของเป็นคนไทย
เหตุผลที่หนุ่มฟาง เลือกประเทศกัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับลงหลักปักฐานโรงงานเบียร์ เนื่องจากด้วยทำเลที่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 5 ชั่วโมง และอยู่ใกล้ท่าเรือสามารถส่งเบียร์คราฟต์ไทยไปขายประเทศใกล้เคียงได้สะดวก ซึ่งสามารถช่วยแบรนด์อื่นๆ ขยายตลาดให้เบียร์คราฟต์ไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
หลังจากนั้น เมื่อ “Stone Head” ซึ่งเป็นเบียร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ตัวได้ระดับหนึ่ง หนุ่มฟางตัดสินใจปั้นเบียร์ของตัวเองภายใต้แบรนด์ รำซิ่งเบียร์ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ขบวนการเสรีเบียร์’ในไทย’ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ถ้าเขาสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจเบียร์ในไทยได้ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายจะตามมาเอง
“ลำซิ่ง” อีกหนึ่งแบรนด์คราฟต์เบียร์น้องใหม่ที่หนุ่มฟางตั้งใจผลิตขึ้นเกิดมาจากหนุ่มฟางตั้งใจที่จะผลิตคราฟต์เบียร์ตามคาแรคเตอร์ของแต่ละจังหวัดของไทย โดย “ลำซิ่ง” เป็นคราฟต์เบียร์ที่ต้องการทำให้ ภาพมุมมองความเป็นไทยของชาวต่างชาติ ถูกสื่อออกมาในรูปแบบของคราฟต์เบียร์ ซึ่งจะดึงจุดเด่น หรือของดีแต่ละจังหวัดมาผสมผสานอยู่ในคราฟต์เบียร์ไทยเหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีของดีแต่ละเมืองแตกต่างกันออกไป
ใช่ว่าการทำตลาดคราฟต์เบียร์จะไปได้สวย อุปสรรคของการทำคราฟต์เบียร์ที่หนุ่มฟางเจอคือความไม่คุ้นเคยในตัวสินค้าซึ่งต้องใช้เวลาและทำให้สินค้าเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น กับอีกปัจจัยคือ ด้านราคา ซึ่งในความรู้สึกของคนไทยมักจะเข้าใจว่าเป็นของคนไทยราคาน่าจะถูกกว่าของต่างชาติ แต่อาจจะลืมนึกไปว่าเราไม่สามารถผลิตคราฟต์เบียร์ในประเทศได้ จึงทำให้ต้นทุนการผลิตคราฟต์เบียร์ไทยสูงไม่ต่างไปจากคราฟต์เบียร์ของต่างประเทศ
เมื่อค้นพบปัญหาดังกล่าว หนุ่มฟางแก้โจทย์ด้วยการตั้งคำถามในใจว่าทำอย่างไรที่จะให้คนทั่วไปได้มีโอกาสทดลองสินค้าได้อย่างทั่วถึง เขาตัดสินใจปั้นเบียร์น้องใหม่อีกตัว ชื่อ “บ้านนอกเบียร์” โดยครานี้อุดรอยโหว่ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ด้วยการเข้าเจรจาวางขายที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ในช่วงแรกจะวางบางสาขาที่เป็นจังหวัดใหญ่ๆ ก่อนขยายให้ครอบคลุมทุกสาขา โดยตั้งราคาจำหน่ายในช่วงแรกที่ 99 บาทขนาด 330 ML และเมื่อครอบคลุมทุกสาขาราคาจะลดลงมาเหลือ 69 บาทต่อขวด ทั้งนี้ต้องรอดูผลตอบรับจากผู้บริโภค โยกลุ่มเป้าหมายคือคนที่เบื่อเบียร์เดิมๆ อยากลิ้มลองสินค้าใหม่ๆ อีกทั้งคราฟต์เบียร์เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ฟางบอกว่าการลงทุน ลงแรงทำทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำเพื่อให้คนไทยเมามากขึ้น แต่อยากให้คิดว่าเรามีสิทธิ์และเสรีภาพที่จะทำได้ภายใต้การเคารพกฎกติกาของบ้านเมือง ดังนั้นการย้ายไปทำเบียร์คราฟต์ที่อื่นจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของพวกเขาในตอนนี้ แต่ในอนาคต หากได้รับความนิยมและสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้น ต้นทุนก็จะถูกลง ย่อมส่งผลให้ราคาถูกลงด้วยเช่นกัน และเมื่อถึงเวลานั้นเขาคิดการใหญ่มีแผนที่จะเปิดโรงผลิตเบียร์ขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยรายเล็กๆ ได้มีที่ผลิตในประเทศอย่างถูกกฎหมายคาดว่าจะได้เห็นในปีหน้า ภายใต้วงเงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท โดยร่วมทุนกับนายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไลเกอร์ และตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเบียร์ไทยนำเข้า (Thai Imported Beer)
เจ้าของคราฟต์เบียร์ไทยรายนี้ บอกว่า การมีผู้ผลิตเบียร์คราฟต์เพิ่มขึ้นไม่ได้การันตีว่าตลาดเบียร์โดยรวมจะเติบโตและทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่แต่อย่างใด เพราะประวัติศาสตร์ในต่างประเทศยืนยันแล้วว่าตลาดไม่ได้เติบโตขึ้นเพียงแต่คราฟต์ได้ส่วนแบ่งมากขึ้นต่างหาก
หนุ่มฟางกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สาเหตุที่เลือกทำเบียร์เพราะเขามองว่า เบียร์เหมือนส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ความเป็นไทย คนไทยชอบสังสรรค์ บ้านเราทำเครื่องดื่มทุกอย่างได้ แต่ห้ามทำเบียร์ จึงเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียม ขณะเดียวกันก็มิได้ต้องการให้คนบริโภคเบียร์เพิ่ม จึงเปลี่ยนวิธีการนำเสนอคือดื่มอย่างมีคุณภาพและดื่มอย่างมีศิลปะ
และวันหนึ่งถ้าแข็งแรงมากพอ คราฟต์เบียร์ไทย อาจจะมีพลังมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และเป็นที่ยอมรับในเวทีสากลก็เป็นได้ ใครจะรู้