ถึงคิวร้านอาหารจีน “ซีอาร์จี”ปั้นแบรนด์ “เกาลูน” เสริมพอร์ต

ยืนหนึ่งในธุรกิจอาหารมาหลายทศวรรษสำหรับ Chain Restaurants รายใหญ่ในไทยอย่าง “CRG” (Central Restaurants Group) ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป ที่หลังๆ งัดกลยุทธ์เติมเต็มแบรนด์ร้านอาหาร ภายใต้ยุทธศาสตร์ธุรกิจ “Multi-large Brand Portfolio” นั่นคือ การลงทุนสร้างแบรนด์ขึ้นเอง หรือแม้แต่ใช้โมเดลซื้อกิจการ หรือร่วมทุนพันธมิตรในธุรกิจร้านอาหารด้วยกัน
แม้ว่าจะกุมความได้เปรียบค่อนข้างมาก แต่ทว่า CRG ยังคงไม่หยุดเดินหน้าท้าชน ปัจจุบันแบรนด์ร้านอาหารของกลุ่ม CRG มีแบรนด์ 13 แบรนด์ กว่า 900 สาขา ได้แก่
– มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut) เปิดสาขาในไทยในปี 1978
– เคเอฟซี (KFC) โดย CRG เป็นหนึ่งในผู้ได้สิทธิ์ทำตลาดและขยายสาขาในไทย มาตั้งแต่ปี 1984
– อานตี้ แอนส์ (AUNTIE ANNE’S) เปิดสาขาแรกในไทยปี 2004
– เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) ได้ลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น นำเข้ามาเปิดในไทยปี 2007
– ชาบูตง (Chabuton) เริ่มต้นเปิดในไทยปี 2010
– โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery) จากอเมริกา นำเข้ามาเปิดสาขาในไทยเมื่อปี 2010 \
– เดอะ เทอเรส (The Terrace) ร้านอาหารไทยสไตล์ Casual Dining
– โยชิโนยะ (Yoshinoya) ร้านอาหารข้าวหน้าญี่ปุ่น เปิดในไทยปี 2011
– โอโตยะ (Ootoya) ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นความเป็น Homemade Style เปิดในไทยปี 2011
– เทนยะ (Tenya) ร้านข้าวหน้าเทมปุระ เปิดให้บริการครั้งแรกในไทยปี 2013
– คัตสึยะ (Katsuya) ร้านเมนูทงคัตสึ นำเข้ามาเปิดในไทยปี 2014
– เฟซท์ (Fezt) แบรนด์ไอศกรีมพรีเมียม
– ร้าน “อร่อยดี” ร้านอาหารสไตล์สตรีทฟู้ด
ล่าสุด เปิดแบรนด์ลำดับที่ 13 ภายใต้แบรนด์ “ซอฟท์แอร์” ไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ และไม่หยุดเพียงเท่านั้น ยังคงมองหาและพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบรนด์ที่ลงทุนสร้างเองซึ่งปัจจุบัน มี 3 แบรนด์แล้วคือ เดอะเทอเรส , อร่อยดี และ ล่าสุดคือ ซอฟท์แอร์ สาขาแรกสยามเซ็นเตอร์ เมื่อเดือนต้นตุลาคมที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น สเต็ปที่น่าจับตามองสำหรับค่ายนี้ที่เรียกว่าเสือซุ่มก็ว่าได้คือ การเตรียมเผยโฉมแบรนด์ลำดับที่ 14 ภายใต้การปลุกปั้นของบริษัท โดยใช้ชื่อ “เกาลูน” แบรนด์ร้านอาหารจีนประเภท ติ่มซำ ซาละเปา ขนมจีบ ซึ่งเตรียมปักหมุดสาขาแรกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ในเดือนธันวาคมนี้ จุดเด่นคือ การใช้เชฟระดับภัตตาคารจีนจาก “ไดนาสตี้” ในเครือโรงแรมเซ็นทารา ซึ่งปัจจุบันมี 2 สาขาคือ โรงแรมเซ็นทรัล ลาดพร้าว และเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ร่วมพัฒนาสูตร
นอกจากนี้ ซีอาร์จี ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแบรนด์อาหารอีกเพียบ โดยเฉพาะอาหารที่เน้นสุขภาพ อาทิ ร้านสุกี้ยากี้ ร้านสลัด ซึ่งเตรียมทยอยเปิดตัวในปีถัดไป
สำหรับแบรนด์น้องใหม่แกะกล่องอย่าง ซอฟท์แอร์ ซีอาร์จีใช้เวลาพัฒนามากว่า 2 ปี โดยเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดที่มีช่องว่างจากการที่ผู้เล่นไม่มาก แม้ว่าจะมีเจ้าใหญ่อย่างแดรี่ควีนครองตลาดเกินครึ่งอยู่ก็ตาม
ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาด เปิดเผยว่า ซีอาร์จี เร่งขยายพอร์ตให้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ ทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการบริโภค ทั้งมื้อหลัก และมื้อว่างในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยเน้นการสร้างแบรนด์ใหม่ ด้วยการพัฒนาแบรนด์ให้เป็นของเราเอง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์หลักของบริษัทฯ
สำหรับแบรนด์ “ซอฟท์แอร์” นี้เป็น แบรนด์ไอศกรีมในรูปแบบซอฟท์ครีม ที่ชูจุดเด่นด้านวัตถุดิบ โดยเน้นคัดสรรวัตถุดิบจากหลากหลายแหล่งผลิต ที่ขึ้นชื่อในแต่ละประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรสชาติความอร่อย เข้มข้นเข้าถึงรสชาตินั้นๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด 6 รสชาติ ได้แก่ Normandie Milk, California Strawberry, Brussels Choco, Shizuoka Matcha, Okinawa Purple Potato, Chanthaburi Mhonthong เช่น ซอฟท์ครีมรส Brussels Choco ที่มีส่วนผสมจากผงโกโก้แท้จากเบลเยี่ยม ทำให้ซอฟท์ครีมมีความหวานมัน มีความเข้มข้นของช็อกโกแลต ในราคาที่เป็นมิตรเพียง 35.- อีกทั้งยังเลือกรับความอร่อยได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ Soft World Waff , Soft World Holidae เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้วางกลยุทธ์การเปิดร้านไว้ 2 รูปแบบคือ คีออสที่เน้นห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ราคาเริ่มต้น 25 บาท ลงทุนสาขาละเกือบ 1 ล้านบาท และรูปแบบที่สองคือ คีออสที่เน้นเจาะเข้าไฮเปอร์มาร์เก็ต ทั้งเทสโก้โลตัส และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ราคาเริ่มต้น 19 บาท ลงทุนสาขาละประมาณ 4-5 แสนบาท โดยทั้งสองรูปแบบจะมีขนาดพื้นที่ร้าน 15-20 ตารางเมตร รวมทั้งมีแผนเปิดขายแฟรนไชส์ในปีหน้าซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดสาขาใหม่ราว 6-10 สาขาเป็นอย่างน้อย
ปัจจุบัน ตลาดไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท มีแดรี่ควีน เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งประมาณ 70-80% ตามด้วยเคเอฟซีและแมคโดนัลด์ ขณะที่ ซอฟท์แอร์วางเป้าหมาย 5 ปีนับจากนี้ จะขยายสาขาได้ไม่ต่ำกว่า 100 สาขา เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ 50% และบริษัทเปิดดำเนินการเอง 50% วางเป้าหมายรายได้ 1,000 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 10% จากตลาดไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ ที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีนับจากนี้
“เนื่องจากซีอาร์จี เรามีโรงงานผลิตไอศกรีมเป็นของตัวเอง มีทีมงานสรรหาวัตถุดิบเกรดพรีเมี่ยมชนิดต่างๆจากทั่วโลกอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดไอเดียในการนำของดีของอร่อยมาเสิร์ฟให้กับลูกค้าของเราได้ในราคาสมเหตุสมผล เราจึงใช้ทำการศึกษาค้นคว้า คิดสูตรและปรับอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตซอฟท์ครีม ใช้เวลาประมาณปีกว่าๆ จนสำเร็จออกมาเป็น “ซอฟท์แอร์” สายการบินที่จะนำรสชาติความสุขจากสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในโลก มารวมกันเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้า”
กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-29 ปี อาศัยอยู่ในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการท่องเที่ยว ชอบทดลองและสัมผัสอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อสร้างสีสันให้กับชีวิต จึงประเดิมเปิดสาขาแรกที่สยามเซ็นเตอร์ ชั้น 2 (Food factory ฝั่งทางเชื่อม Siam Discovery) โดยรูปแบบร้านได้มีการออกแบบร้านเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ที่จะพาทุกคน Fly you to the soft cream world สัมผัสความสุขสุดซอฟท์จากรอบโลก โดยยกเครื่องบินทั้งลำมาแลนดิ้งความอร่อยกันแบบจัดเต็ม เพื่อสร้างแลนด์มาร์ก และสร้างการจดจำให้กับลูกค้า ซึ่งรูปแบบร้านออกแบบเป็น 2 ส่วน ได้แก่ โซน Check-in และ โซน Landing
– โซน Check-in : เป็นจุดที่ให้ลูกค้าสั่งซอฟท์ครีม โดยจะมีพนักงานสาวสวยคอยต้อนรับเป็นอย่างดี เสมือนเป็นส่วนที่นักท่องเที่ยวเตรียมตัว Check-in ก่อนออกเดินทาง
– โซน Landing : หลังจากที่ลูกค้าได้รับซอฟท์ครีมแล้ว สามารถนั่งรับประทานซอฟท์ครีมเพื่อสัมผัสรสชาติเข้มข้น เสมือนเครื่องกำลังแลนด์ดิ้งลงสู่เมืองของรสชาตินั้นๆ เช่น California Strawberry, Brussels Choco, Shizuoka Matcha, Okinawa Purple Potato, Chanthaburi Mhonthong เป็นต้น
ในอนาคตแบรนด์ซอฟท์แอร์มีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยจับมือร่วมกันกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง อาทิ ศูนย์การค้า และ Hyper Market ต่างๆ เพื่อเร่งขยายสาขาและสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้นรวมถึงการเปิดแฟรนไชส์ เพื่อแตกทำเลใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนร่วมกัน โดยตั้งเป้าขยายสาขากว่า 100 สาขาภายใน 5 ปี
“ในปัจจุบันถึงแม้ไอศกรีมจะไม่ใช่อาหารหลักที่ต้องกินทุกมื้อ แต่ก็เป็นของกินเล่นที่สามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจไอศกรีมในบ้านเรามีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากกล่าวถึงไอศกรีมในประเทศไทยเราคงเห็นกันอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น แบบไม่มีแบรนด์ที่ขายทั่วไป, แบบ Local Brand, แบบแบรนด์ที่อยู่ในห้างแบบ Mass และแบบพรีเมี่ยมแบรนด์ ซึ่งทั้งหมดนั้นมีมูลค่ารวมมากกว่า 13,000 ล้านบาท หรือเติบโต 8% ต่อปี และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย Single Digit ทุกๆปี จึงทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจในการต่อยอดตลาดไอศกรีมให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น” คุณปิยะพงศ์กล่าวในตอนท้าย