ถอด “คอซอง-ขาสั้น” 1 วัน
ความสุขที่ “ชุดนักเรียน” ให้ไม่ได้
โดย…ธนก บังผล
ใครยังจำภาพตัวเองตอนเรียนหนังสือในวัยเด็กได้บ้างครับว่าต้องใส่ “ชุดลูกเสือ” กันวันไหน และมันจะเป็นเช้าที่วุ่นวายเพราะต้องตื่นมาประดับเครื่องหมาย ผูกผ้าพันคอ ติดอะไรต่างๆมากมายให้ถูกระเบียบตั้งแต่หัวจรดเท้า และมีบางครั้งที่เพื่อนร่วมชั้นบางคนลืมแต่งชุดลูกเสือมาโรงเรียน ถูกล้อให้อายไปทั้งวัน
แต่บรรยากาศในรั้วโรงเรียนที่เรานึกถึงกันมากที่สุดก็คงเป็นการเข้าแถวเคารพธงชาติตอนเช้า ภาพที่เต็มไปด้วยเด็กในชุดนักเรียนอยู่กันเต็มสนามหรือหน้าอาคารเรียน หากภาพเหล่านี้ถูกเปลี่ยนไปเป็นชุดไปรเวทตามสบายหลากสีสัน ก็ย่อมทำให้ความเคยชินกับการเป็นระเบียบแบบเดิมถูกเขย่า
และเมื่อวันอังคารที่ 8 ม.ค. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก็ปลดแอกระเบียบนั้นเป็นแห่งแรกเรียบร้อยแล้วครับ ด้วยการประกาศให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทุกคนสามารถแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าปกติ หรือที่เรียกว่าไปรเวทมาเรียนได้ตามสมัครใจในทุกวันอังคาร เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา หลังจากนั้นจะทำการประเมินว่ามีผลกระทบกับผลการเรียนหรือไม่ หากพบว่ามีผลเสียต่อการเรียนการสอนก็จะยกเลิกในเทอมถัดไป
การแต่งกายที่อนุญาตให้ใส่มาโรงเรียนได้คือ สวมเสื้อคอกลม เสื้อเชิ้ตเเขนสั้น เสื้อยืดแขนยาว เสื้อเชิ้ตแขนยาว เสื้อโปโล เสื้อยีนส์ เสื้อตราโรงเรียนทุกประเภท กางเกงขายาว กางเกงยีนส์ กางเกงขาสามส่วน กางเกงขาสั้น กางเกงสแล็ค และยังสนับสนุนให้ใช้ผ้าขาวม้าด้วย
แต่ไม่อนุญาตให้สวมเสื้อแขนกุด เสื้อขาด กางเกงเล กางเกงขาด กางเกงนอน รองเท้าแตะ รวมถึงเครื่องประดับอื่นๆ เช่น กำไลข้อมือ หรือการเจาะหู

ที่น่าสนใจที่สุดคือแนวคิดนี้คณะครูโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้ตัดสินใจร่วมกัน มีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้อนุมัติ และแม้ว่าจะมีศิษย์เก่าบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ทิศทางความเห็นของส่วนใหญ่เห็นด้วย และมีบางคนให้ความเห็นว่าโรงเรียนอื่นๆ น่าจะทำตาม
เมื่อในแต่ละสัปดาห์มี 1 วันที่นักเรียนสามารถแต่งกายชุดไปรเวทได้ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนเชื่อว่าจะทำให้เด็กผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งการแต่งกายยังสะท้อนตัวตนของเด็กออกมาได้อย่างเต็มที่ ก็ทำให้อาจารย์ได้มองเห็นความแตกต่างของเด็กนักเรียนแต่ละคนแล้วนำเอาจุดด้อยมาพัฒนาเป็นความสามารถด้านต่างๆ
เมื่อเด็กผ่อนคลายก็จะกล้าแสดงออกมากขึ้น และกลายเป็น “ความสุข” ในการเรียน
แนวคิดของผู้อำนวยการโรงเรียนมีความหัวก้าวหน้ามากนะครับ เพราะกรอบการปฏิบัติให้แต่งชุดนักเรียนเป็นระเบียบที่มีมานานมาก การเห็นว่ากรอบนั้นคือ “หน้ากาก” เดียวกันที่บังคับให้เด็กใส่มาเรียนจนทำให้เด็กไม่แสดงออกถึงความสามารถที่มี
ในโลกยุคใหม่ การศึกษาเองก็ต้องปรับตัวให้วิธีการสร้างเด็กสอดคล้องกับสังคมทั้งหลักสูตรที่เพิ่มมากขึ้น ยากขึ้น โดยสิ่งที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ทดลองให้ใส่ชุดไปรเวทในวันอังคาร มองแล้วในการศึกษานี้น่าจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ถ้าถามตัวเด็กที่เป็นผู้เรียนเองก็คงอยากจะใส่ชุดธรรมดามาเรียนบ้างเป็นการเปลี่ยนความรู้สึกในการมาโรงเรียน หลังจากที่ต้องใส่ขาสั้นคอซองมาตลอด
ความเป็นระเบียบเรียบร้อยนี่ละครับที่กลายเป็นภาระของผู้ปกครองเช่นกัน แม้ราคาจะไม่ได้แพงมากแต่เสื้อผ้าชุดนักเรียน รองเท้า กระเป๋า กางเกง ไหนต้องจะปักชื่อ ปักดาวแสดงชั้น ยิ่งเด็กมัธยมปลายโตเร็วอาจต้องเปลี่ยนชุดกันทุกปี ยังไม่นับชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี ชุดพละ เสื้อกีฬาสี เข็มกลัดต่างๆ ที่ต้องซื้ออยู่แล้ว ชุดนักเรียนคือการลงทุนของผู้ปกครองอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถการันตีได้ว่าในอนาคตเด็กจะประสบความสำเร็จชีวิต มีหน้าที่การงานทำที่ดี
แต่ถึงอย่างนั้น ชุดนักเรียนคือชุดที่ปลอดภัยที่สุด เป็นชุดที่ได้รับสิทธิพิเศษในการโดยสารรถสาธารณะ และได้รับความคุ้มครองจากสังคม หากเกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาท ชุดนักเรียนจะสามารถระบุได้ทันทีว่าเป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนอะไร

ในขณะที่หลายคนเป็นห่วงว่าชุดทั่วไปนั้นมีความเป็นแฟชั่น เสื้อบางตัวมียี่ห้อราคาแพงทำให้เกิดการแข่งกันแต่งตัว หรือเด็กบางคนไปไกลมากเมื่อการใส่เสื้อตัวนี้สีต้องเข้ากับกระโปรง กางเกง มีรองเท้ากับกระเป๋าต้องคุมโทน
ผมเชื่อว่าปัญหาการแต่งตัวตามแฟชั่นหรือใช้เสื้อผ้าแบรนด์เนมมาอวดกันที่โรงเรียนคงเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะเด็กในระดับชั้นมัธยมส่วนใหญ่ยังพักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน ผมอ่านในเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ที่ไปสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน “ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์” ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า
“ปัจจุบันคำว่าเรียนดีมันไม่ใช่เรื่องไปพัฒนาสติปัญญาอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของไลฟ์สกิล เรื่องของความสามารถด้านอื่นๆ อีกด้วย คือคนที่เรียนเก่งวิชาการกับคนที่เรียนไม่เก่งสอบตก แต่เขาก็มีอนาคตที่ดีได้ นั่นคือนิยามคำว่าเรียนดีในสมัยใหม่ ดีในทางของตัวตนเขา ยกตัวอย่างคือหากมีเด็กที่แต่งตัวกันเพื่อแข่งแบรนด์เนม เราพบปัญหาทันทีในรายนักเรียนคนนั้น คุณครูก็สามารถปรับและแก้ไขได้”
สรุปแล้วการที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ได้ทดลองให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียน 1 วัน ต่อสัปดาห์ เป็นการคิดและวางรูปแบบผ่านการประชุมจากคณะครูมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายของนักเรียนนะครับ แต่เป็นการตั้งเป้าหมายให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ถอดหน้ากากเปิดเผยตัวตน กล้าแสดงออก โดยมีครูที่ดูแลอยู่นั้นคอยชี้แนะพัฒนา “ตัวตน” ของเด็กในการสานต่อไปยังสังคมและการศึกษาระดับสูงขึ้น
น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการทดลองเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ทางโรงเรียนวางไว้คือ ต้องการมุ่งสร้างศูนย์การเรียนรู้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข

ส่วนเรื่องที่มีคนคัดค้านบ้างนั้น ก็เป็นความเคยชิน ยึดติดอยู่กับชุดนักเรียน อยากให้นักเรียนแต่งตัวเรียบร้อยสมวัยไปเรียน ซึ่งถ้ามองในแง่การส้รางบรรยากาศในโรงเรียนให้แปลกใหม่ขึ้น แล้วผลประเมินพบว่าเด็กนักเรียนมีความสุขมากขึ้น
ผมว่าก็น่าการใส่ชุดไปรเวทแม้เพียงวันเดียวก็น่าจะตอบโจทย์ของเด็กในปัจจุบันได้ดีนะครับ หากชุดนักเรียนไม่สามารถสร้างความสุขในโรงเรียน หรือทำให้เด็กอยากมาโรงเรียนได้เท่ากับชุดไปรเวท
Like this:
Like Loading...
Related