คนไทยรัดเข็มขัด-ช่างเลือก ซัด FMCG ค้าปลีกเจอศึกหนัก
ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม้ฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยลดจำนวนครั้งของการออกไปจับจ่ายสินค้าลง และใช้ความพินิจพิจารณาในการเลือกซื้อมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงถึงสินค้ากลุ่ม FMCG (Fast Moving Consumer Goods) หรือ สินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันที่มีอัตราการหมุนเวียนเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ทั้งนี้สะท้อนได้จากผลการศึกษาชุด “สรุปภาพรวมตลาด FMCG ในปี 2560 และ แนวโน้มปี 2561 – 2562 พร้อม ปัจจัยที่กระทบต่อการเติบโต และการปรับกลยุทธ์” โดยบริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ที่ระบุว่า ตลาด FMCG ในปี 2560 เติบโตติดลบ 0.4% ซึ่งถือเป็นการเติบโตติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 4,42 แสนล้านบาทล้านบาท
สำหรับสินค้าที่ติดลบมากที่สุดในกลุ่ม FMCG คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ติดลบ -2.4% ขณะที่กลุ่มของใช้ในครัวเรือน ยังเติบโตเพิ่มขึ้น 4.1% กลุ่มสินค้าส่วนบุคคลเติบโต 2.6%
นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า ในปี 2561 และ 2562 นี้ จะเป็นปีที่ยากลำบาก โดยเฉพาะกับธุรกิจ 2 กลุ่มหลัก คือ ผู้ผลิตสินค้า FMCG และ ผู้ประกอบการค้าปลีก โดยในปี 2561 นี้ จะเป็นปีที่มีอัตราเติบโตต่ำอีกปีหนึ่ง ซึ่งเป็นผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคใน 3 ปัจจัย สำคัญ
นั่นคือ 1. การลดจำนวนทริปในการออกไปจับจ่าย เพราะกลุ่มนักช็อปมีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนแหล่งช้อปปิ้งไปเรื่อยๆ เพื่อหาสินค้า และโปรโมชั่น ตลอดจน จุดจับจ่ายที่ให้ความคุ้มและประหยัดเงินที่สุด 2. การขยายสาขาของผู้ประกอบการค้าปลีก ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้นเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันvย่างหนักในการนำเสนอโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจเลือกจุดจับจ่าย และ 3.ตัดกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นออก นักช้อปยุคปัจจุบันมีการวางแผนการซื้อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภท Package Grocery โดยจะเลือกซื้อกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีความต่างและหลากหลาย ที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขายของแบรนด์สินค้า โดยตรง
สำหรับแนวโน้มการเติบโตปี 2018 และ ปี 2019 นั้น นับว่า ยังไม่สดใสเนื่องจากการลดจำนวนครั้งที่ออกไปจับจ่าย และ การลดจำนวนกลุ่มสินค้าที่ทำการซื้อในอัตราที่ลดลง ดังนั้น การฟื้นตัวจะต้องใช้เวลา ทำให้การเติบโตเป็นไปได้อย่างช้าๆ โดยคาดว่า จะอยู่ในช่วงอัตราระหว่าง -1% และ 2% สำหรับปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ
ในส่วนของตลาดตัวเมืองและตลาดชนบทนั้น จากผลสำรวจพบว่า เหล่านักช้อป โดยเฉพาะ ผู้ที่อยู่ในตัวเมืองนิยมจับจ่ายไปทั่ว เพื่อให้ประหยัดที่สุด ผู้ประกอบการค้าปลีก รวมถึงรูปแบบการค้าปลีกขนาดใหญ่ ยังคงใช้กลยุทธ์การอัดโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดเหล่านักช้อป รวมทั้งแย่งชิงผู้บริโภคด้วยการขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงและครอบคลุมเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อ ให้เกิดความสะดวกสบายที่สุด
เป็นที่น่าสังเกตว่า ร้านสะดวกซื้อยังคงขยายส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ช่องทางร้านสะดวกซื่อสามารถยึดครองส่วนแบ่งการตลาดได้เพิ่มขึ้นปีละ 0.5% ซึ่งหากยังคงรักษาอัตราการขยายตัวในระดับนี้ คาดว่า ในปี 2562 ร้านสะดวกซื้อจะกลายเป็นช่องทางอันดับหนึ่งของโมเดิร์นเทรด สำหรับตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคภายในครัวเรือนแน่นอน
ขณะที่ช่องทางไฮเปอร์ – มาร์เก็ต ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งช่องทางการตลาดอย่างคงที่ เป็นผลจากสงครามโปรโมชั่นของ 2 ค่ายใหญ่ คือ เทสโก้ และ บิ๊กซี ส่วนช่องทางโชห่วยยังจะเป็นช่องทางอันดับหนึ่งในภาคตลาดรวมต่อเนื่องไปอีกสิบปี
ที่น่าสนใจคือ อี-คอมเมิร์ซซึ่งเป็นช่องทางที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งหากสามารถขยายส่วนแบ่งช่องทางการตลาดแบบเท่าตัวในแต่ละปี ช่องทางนี้จะมีแนวโน้มที่สามารถแซงหน้าช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตได้ในปี 2563