Financial
คนฝากเงินต้องรู้!ยืนยันตัวตนฝากเงินตู้อัตโนมัติ 11 พ.ย.นี้ ใช้หลักฐานอะไรบ้าง

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยกำหนดเงื่อนไขวิธีการแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ฝากเงินอัตโนมัติ ( CDM)ใหม่ เพื่อป้องกันการฟอกเงิน จากการก่ออาชญากรรม ยาเสพติด การพนัน การหลอกลวงทางการเงินและสนับสนุน ทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งตรวจสอบความโปร่งใสทั้งต้นทางเเละปลายทาง เพิ่มความปลอดภัยเเละความมั่นใจให้กับประชาชนในการทำธุรกรรมเเละสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบการเงินมากขึ้น โดยจะเริ่มวันที่ 11 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ประเภทธุรกรรมที่ต้องยืนยันตัวตน
ฝากเงินเข้าบัญชีภายในและต่างธนาคาร
ชำระบิลด้วยเงินสด (Bill Payment)
ผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ
รูปแบบแรก
ผู้ฝากเงินใส่หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของตน
หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และรหัส OTP (One-Time Password) ที่ได้รับ
วงเงินฝากสูงสุด 30,000 บาท ต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)
รูปแบบที่ 2
ผู้ฝากเงินใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของตน ร่วมกับรหัสส่วนตัว (PIN)
วงเงินฝากสูงสุด 100,000 บาท ต่อครั้ง (รวมค่าธรรมเนียม)
รายละเอียดและเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บไซต์ธนาคาร หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ของธนาคารที่ใช้บริการ
ไม่มีค่าใช้จ่ายในการแสดงตน แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการฝากเงินสดแทน ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ทั้งการฝากเข้าบัญชีธนาคารเดียวกัน และต่างธนาคาร ดังนี้
ค่าธรรมเนียมการฝากเงิน บัญชีเขตเดียวกัน (จังหวัดเดียวกัน)
ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมการฝากเงิน บัญชีข้ามเขต (ข้ามจังหวัด)
ฝากผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ ( CDM,ADM,ATM Recycling ) คิดค่าธรรมเนียม หมื่นละ 10 บาท + ค่าบริการ 10 บาท (ขั้นต่ำ 20 บาทต่อรายการ)
ค่าธรรมเนียมการฝากเงินข้ามธนาคาร
ฝากผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น 50 บาทต่อรายการ ดังนี้
ยอดไม่เกิน 10,000 บาท ค่าธรรมเนียม 50 บาทต่อรายการ
ยอด 10,001-20,000 บาท ค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อรายการ
ยอด 20,001-30,000 บาท ค่าธรรมเนียม 70 บาทต่อรายการ
ยอด 30,001-40,000 บาท ค่าธรรมเนียม 80 บาทต่อรายการ
ยอด 40,001-50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 90 บาทต่อรายการ
ยอด 50,001-65,000 บาท ค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อรายการ
ยอด 65,001-80,000 บาท ค่าธรรมเนียม 110 บาทต่อรายการ
ยอด 80,001-100,000 บาท ค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อรายการ
ผ่านสาขาของแต่ละธนาคาร
ผ่าน banking agent เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะมีการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน
ล่าสุด สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงภัยทางการเงินที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและจัดการภัยทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน (ปปง.) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภัยทางการเงินได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
.
สำหรับมาตรการในการแก้ปัญหาบัญชีม้า สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการขยายผลอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิด ซึ่งเจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566
.
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าและประชาชน ควรต้องติดตามข้อมูลและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้
• ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งอื่น นอกจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น
• ไม่เปิดเผยรหัสผ่านเข้าโมบายแบงก์กิ้ง รวมถึงรหัสผ่านใช้งานครั้งเดียว (OTP) กับบุคคลอื่น
• ไม่สแกนใบหน้า หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก
• ไม่กดลิงก์จาก SMS แปลกปลอม โดยภาคธนาคารไม่มีนโยบายส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอด Line ID หากได้รับ SMS ดังกล่าว อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด
• ควรสังเกตโล่ ที่อยู่ด้านหน้า Line account เสมอ ซึ่งมีโล่สีเขียว หรือน้ำเงินเข้ม เท่านั้น
• หากมีข้อสงสัยเรื่องการทำธุรกรรมใด ๆ ควรโทรกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดที่ถูกแอบอ้างด้วยตนเองเพื่อตรวจสอบข้อมูลเสมอ
หากพบธุรกรรมผิดปกติหรือมีข้อสงสัย ขอให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งานทันที เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด หรือ แจ้งไปยังสายด่วน 1441 ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ที่พร้อมให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์
.
ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนไปยังเจ้าของบัญชีที่ยินยอมให้มิจฉาชีพนำบัญชีของตนไปใช้เป็นบัญชีม้าว่า ขณะนี้สมาคมธนาคารไทยกำลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดำเนินการขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการทางคดีกับผู้กระทำความผิดตาม พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
อย่างไรก็ตาม แม้กระบวนการแสดงตัวตนดังกล่าว จะเพิ่มขั้นตอนในการทำธุรกรรม และอาจสร้างความยุ่งยากขึ้นแต่ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ก็คงคุ้มค่าเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยคุกคาม ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจธนาคารที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประโยชน์สุดท้ายก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ในที่สุด