Biznews

“ขึ้นค่าแรง” ใครได้ – ใครเสีย

ปัญหาเรื้องรังที่รอการแก้ไขมายาวนานสำหรับสังคมไทยที่ยังคงเกาไม่ถูกที่คันในเวลานี้คือ ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่มีการถกกันมาทุกยุคทุกสมัยว่าความเหมาะสมนั้นควรจะอยู่ที่ในอัตราใดจึงจะเพียงพอต่อการครองชีพและไม่เป็นภาระให้กับผู้ประกอบการที่ในตอนนี้มีทางเลือกมากขึ้นจากการใช้แรงงานต่างด้าวที่ต้องยอมรับว่าไม่เกี่ยงงอนอัตราผลตอบแทน หรือในรายผู้ประกอบการขนาดใหญ่ก็มีการเลือกใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผลิต เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ให้ผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อน

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตั้งแต่ 5-22 บาท หรือมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 308-330 บาทต่อวัน ตามแต่พื้นที่ในแต่ละจังหวัดที่ทุกจังหวัดให้ความเห็นชอบ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2561 โดยให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นค่าแรงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการคุ้มครองผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขี้นต่ำ 3 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการลดหย่อนภาษี โดยให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน นำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าแรงให้ลูกจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.15 เท่า โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ไปจนถึงสิ้นปีนี้ คาดว่ารัฐจะเสียงบประมาณ 5,400 ล้านบาท

มาตรการที่ 2. เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งจากการประเมินพบว่าการขึ้นค่าแรงจะส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้อยละ 0.5-1 ด้วยวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่คัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการจัดสัมมนาและอบรมในการพัฒนาสถานประกอบการ คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีเข้าร่วม 50,000 แห่ง มีผู้ประกอบการ 250,000 คน ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบเท่านั้น

และมาตรการที่ 3 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 สำหรับผู้ประกอบการที่มีการนำเครื่องจักรมาปรับปรุงและมีการนำระบบดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการจัดการธุรกิจ โดยให้ยกเว้นเป็นเวลา 3 ปี และขยายขอบเขตการอบรมบุคลากรของผู้ประกอบการให้มากขึ้น

กระทรวงการคลังคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 5,400 ล้านบาท นี่เป็นการเยียวจากภาครัฐให้ภาคธุรกิจ ที่ทางนายจ้างต้องหาเงินมาจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้ลูกจ้าง ขณะเดียวกันถือว่ารัฐบาลได้วางกรอบในการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดตามาในกลุ่มของผู้ประกอบการ

เรามาดูฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวก่อน ซึ่งแน่นอน การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ซึ่งอยู่ในช่วง 308-330 บาท/วัน เฉลี่ย 315.97 บาท/วัน จากอัตรา 300-310 บาท/วันในปี 2560 เฉลี่ย 305.44 บาท/วัน โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ เป็นการปรับขึ้นแบบไม่เท่ากันทั่วประเทศตามแต่ละพื้นที่โดยจัดกลุ่มจังหวัดแบ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 7 ระดับ แตกต่างจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีก่อนที่แบ่งเป็น 4 ระดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มตัวแปร เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) เข้ามาในสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่

ซึ่งแน่นอนคนที่ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ คือผู้ใช้แรงงานเพราะจะได้เงินเพิ่มระหว่าง 5-22 บาทต่อวัน ทำให้ทั่วประเทศมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 308 บาท ถึง 330 บาท

ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า กลุ่มประชากรแรงงานที่อยู่ในระดับที่จะต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้มีประมาณ 20.2% คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมอยู่ที่ระหว่าง 8-14% การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.06% และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ที่ 1.1%

ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว แม้ว่าการปรับในครั้งนี้จะไม่เท่ากันทั้งประเทศก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าเดิม ลดแรงกดดันเรื่องค่าครองชีพสูงส่งผลที่ดีต่อการการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ จากโครงสร้างการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยโซนที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดคือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยองปรับขึ้นเป็น 330 บาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เป็นจังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการดึงดูดแรงงานที่พอจะมีทักษะฝีมือให้เคลื่อนย้ายมาทำงานใน EEC มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าเมื่อเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ผลกระทบที่ตามมาถึงภาคประชาชนชัดเจนที่สุดคืออะไร คำตอบคือ ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยต้นทุนที่มากขึ้น และมีแนวโน้มว่าเงินที่เพิ่มขึ้นในกระเป๋าจะซื้อสินค้าได้น้อยลงด้วยซ้ำไป จากกรณีนี้

เป็นที่รู้กันว่าค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมบางชนิด เช่น ก่อสร้าง มักใช้แรงงานเป็นคนต่างด้าว เพราะคนไทยไม่นิยมทำงานแบกหาม เมื่อแรงงานเหล่านี้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น ยังอาจส่งผลให้คนไทยตกงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเสี่ยงจะเกิดเงินเฟ้อตามมา

กูรูด้านการเงินให้ความเห็นที่น่าสนใจมาก ว่าปัญหาเรื่องเงินที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่รายได้มีไม่มากพอ แต่ต้นตอของปัญหา คือ การที่เราใช้เงินไม่เป็นมากกว่า ถ้าเราบอกว่าเงินไม่พอใช้ ก็ให้ย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ทุกวันนี้เรายังมีเงินลงขวด มีเงินไปซื้อบุหรี่ หรือ แม้กระทั่งเล่นหวยหรือเปล่า

โดยคนไทยในปัจจุบันจำนวนมากมีความรู้ทางการเงินที่ต่ำอย่างมากจนน่าใจหาย เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนไทยจึงมีปัญหาเรื่องการเงินอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการก็น่าจะมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ ได้เปรียบคือ จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราน้อยที่สุดที่ 308 บาท/วัน ยังเป็นโอกาสที่ดีที่มีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนน้อย ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มไม่มาก ก็น่าจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนข้อเสียเปรียบที่เห็นได้ชัดเจนก็ต้นทุนต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็อยู่ที่ว่าบริษัทใดจะสามารถรับมือกับมาตราการนี้อย่างไร

ในกลุ่มของธุรกิจค้าปลีก โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ว่า ส่งผลกระทบใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
ปัญหาขาดแคลนแรงงานในพื้นที่เมืองหลวง เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ย้ายกลับภูมิลำเนาของตนเอง ปัญหาค่าจ้างแรงงานรายชั่วโมง เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบต่อโครงสร้างค่าจ้างแรงงานทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรธุรกิจต่างๆ อาจมีความแตกต่างกันไปตามพื้นฐานของแต่ละบริษัท โดยธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานเกินอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ อาจยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะแรก แต่ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุด

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อพิจารณา เช่น ออกมาตรการระยะสั้นในการช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียนแก่ธุรกิจ SME ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถนำค่าจ้างแรงงานทั้งหมดไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า กำหนดให้ออกกฏกระทรวง ประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกกฏหมาย ส่งเสริมการจ้างงานในระบบทวิภาคี และ สหกิจศึกษาอย่างจริงจังและยั่งยืน

ขณะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกหนึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศต่างมองคล้ายกันว่า การขึ้นค่าแรงในคร้ังนี้ไม่น่ากระทบเพราะส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ข้อวิตกสำคัญของภาคอสังหาฯ คือการการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นหลักมากกว่า เพราะปัจจุบันไซต์ก่อสร้างทั้งหลายใช้แรงงานต่างด้าวเกือบทั้งหมด

ดังนั้น เรื่องถัดจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภาครัฐควรเข้ามาดูแลปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจะเป็นการควบคุมต้นทุนพัฒนาโครงการโดยปริยาย

การขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายและมีเสียงย้อนแย้งทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเพราะในเชิงธุรกิจเมื่อมีคนได้ประโยชน์ ก็ต้องมีคนเสียประโยชน์เช่นกัน

Related Articles

Back to top button
X
%d bloggers like this: